การพัฒนาตนเอง
ความหมายของการพัฒนาตนเอง (Self – Development)
การพัฒนาตนเองหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Self-development คือแนวคิดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตน หรือให้สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคม ซึ่งมีนิยามความหมายที่ค่อนข้างหลากหลาย ดังนี้
ความหมายที่ 1: การพัฒนาตนคือการที่บุคคลพยายามที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนด้วยตนเองให้ดีขึ้น
กว่าเดิมเหมาะสมกว่าเดิม ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรม แสดงพฤติกรรม เพื่อสนองความต้องการ แรงจูงใจ หรือเป้าหมายที่ตนตั้งไว้
ความหมายที่ 2: การพัฒนาตนคือการพัฒนาศักยภาพของตนด้วยตนเองให้ดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และ สังคม เพื่อให้ตนเป็นสมาชิกที่มีประสิทธิภาพของสังคม เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนเพื่อการดำรงชีวิตอย่างสันติสุขของตน
สำหรับการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นบุคคลที่มีศักยภาพและมีความสามารถนั้น เราต้องการพัฒนาความ “เก่ง” ในสามด้านด้วยกัน
1) เก่งตน คือ การเป็นผู้หมั่นศึกษาหาความรู้เพื่อให้รู้เท่าทันคนอื่น และรู้เท่าทันโลก มีความประพฤติ การแสดงออกทางวาจาและอารมณ์ที่เหมาะสม มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความกระตือรือร้น เป็นต้น
2) เก่งคน คือ คนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น มีพื้นฐานความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีตั้งแต่ในระดับครอบครัว เพื่อนฝูงความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน คนประเภทนี้จะเป็นที่รักและเอ็นดูของคนทั่วไป สามารถเข้าสังคมได้ง่ายและเมื่อมีปัญหาก็มีผู้อื่นยินดีให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ
3) เก่งงาน คือ คนที่ได้มีการศึกษาและรู้สึกรู้กว้างเกี่ยวกับขอบเขตที่ตนเองทำ เป็นผู้ที่รักและขยันในการทำงาน มีความมุมานะและอุตสาหะ ทุ่มเทให้กับการทำงาน คนประเภทนี้จะเป็นคนที่เจ้านายมีความเชื่อใจและมีคุณค่าสำหรับองค์กรสูง
โดยสรุป การพัฒนาตนเองเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในตัวเราในทางที่ดีขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วาจา และความคิด ที่มีผลต่อความสัมพันธ์ในระดับบุคคลและผลของการทำงาน
การพัฒนาตนเอง ในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในรูปแบบ “ชุมชน บำบัด”
Self Help: กิจกรรมเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือตัวเอง
การดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันของบุคคลเพื่อให้ปกติสุข แต่ละบุคคลจำเป็นต้องมีทักษะการดำเนินชีวิต เช่น ความสามารถในการปรับตัว การมีสติ รับรู้ตนเอง รับรู้และเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น
กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนย่อมมีสัญชาตญาณโดยกำเนิด ทำให้มีความรู้สึกและการกระทำได้เอง โดยไม่ต้องให้มีใครมาสั่งสอน และการกระทำจะต้องยึดหลักปฏิบัติ ที่ถูกต้องเหมาะสม ในกฎเกณฑ์ของ สังคม ประเพณี ธรรมเนียม และวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับของสังคม และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
กิจกรรมประกอบการพัฒนา “การเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือตัวเอง” (Self Help) ในกระบวนการ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รูปแบบ “ชุมชน บำบัด” ประกอบไปด้วย 9 กิจกรรม ดังนี้
1. การบันทึกและรายงาน
2. การสำรวจตัวเอง
3. การตั้งเป้าหมายในชีวิต
4. การปฏิเสธ
5. การควบคุมตนเอง
6. การสร้างแรงจูงใจ ใฝ่สัมฤทธิ์
7. การแก้ไขปัญหา
8. การสื่อสาร
9. การสร้างวินัยให้ตนเอง
กลุ่มประกอบการพัฒนาตนเอง: Static Group (กลุ่มคงที่)
สมาชิกภายในกลุ่มจะอยู่ร่วมกันตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ ในตลอดระยะเวลาของการฟื้นฟูฯ หรือมีการปรับเปลี่ยนตามวุฒิภาวะความเจริญก้าวหน้าทางด้านความรับผิดชอบ หรือกลับสู่สังคมก่อนระยะเวลาจบโปรแกรม วัตถุประสงค์ของกลุ่ม สมาชิกภายในกลุ่มจะช่วยเหลือ ดูแล ผลักดันให้กลุ่มเจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน โดยใช้กระบวนการ Self Help ช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม
Self to Self Help: การบอกสอน การถ่ายทอดประสบการณ์
หลังจากผ่านกระบวนการ Self Help และสามารถใช้กระบวนการต่างๆ ในการดูแลตนเองได้แล้วจะต้องพัฒนาตนเองเข้าสู่กระบวนการ Self to Self Help. เพื่อฝึกกระบวนการให้เกิดเป็นนิสัย Act As If. และสามารถใช้กระบวนการต่างๆ ช่วยเหลือผู้อื่นได้.
การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ การเปลี่ยนแปลงแนวความคิด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จะต้องอาศัยการปรับตัว และจะต้องมีคนคอยชี้นำ เพื่อให้เกิดการดำเนินชีวิตการกระทำต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของสังคมใหม่ ที่แตกต่างจากสังคมเดิม การเปลี่ยนแปลงแนวความคิด และพฤติกรรม จำเป็นจะต้องอาศัย ต้นแบบ แบบอย่างในการปรับเปลี่ยน (Role Model) ให้เกิดความเชื่อ ว่าสิ่งต่างๆที่ทำใน “ชุมชน บำบัด” สามารถที่จะแก้ไข และปรับเปลี่ยน การดำเนินชีวิต แนวคิด พฤติกรรม ไปในทางที่ดีได้
Self to Self Help ในชุมชนบำบัด จึงจำแนกเป็น 2 ลักษณะ คือ
ตัวต่อตัว: Man to Man เป็นการดูแลโดยใช้พี่เลี้ยงประกบ (Big Brother) ที่จะคอยดูแลช่วยเหลือ แนะนำ ในทุกๆ ด้าน โดยพี่เลี้ยง จะได้เรียนรู้กระบวนการ Self to Self Help และน้องเลี้ยง จะได้เรียนรู้กระบวนการ Self Help เพื่อให้บุคคลที่อยู่ในกระบวนการ Self Help เกิดการปรับตัว ตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และการดำเนินชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างจากสังคมเดิมพี่เลี้ยงจะต้องกระทำตัวเป็นแบบอย่างในทุกด้าน (Role Model) เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และเกิดการกระทำตามแบบอย่าง การบอกสอนในลักษณะ “ตัวต่อตัว” (Man to Man) จะเกิดกระบวนการ การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเกิดการพัฒนาตนเอง ในลักษณะที่แตกต่างกัน
กลุ่ม:Group ในโปรแกรม “ชุมชน บำบัด” ให้ความสำคัญในกิจกรรมกลุ่มเป็นอย่างยิ่ง เหตุเพราะกิจกรรมกลุ่มต่างๆ จะช่วยแก้ไขผลักดันและให้กำลังใจได้หลากหลายแง่มุมที่แตกต่างกันตามประสบการณ์จริงของแต่ละบุคคล ที่สำคัญกลุ่มจะช่วยให้เห็นตัวเองจากการสะท้อนของบุคคลอื่น (We are Such Mirror) “เสมือนเห็นตัวเองในกระจก” และเกิดการเรียนรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยใช้คนที่ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้สำเร็จ เป็นต้นแบบ
ลักษณะกลุ่มใน Self to Self Help จำแนกเป็น 2 ลักษณะ
- กลุ่มแบบเป็นทางการ:Formal Group การจัดกลุ่มจะต้องใช้สถานที่ที่เหมาะสมมีการจัดโต๊ะ จัด-เก้าอี้ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามลักษณะของกลุ่มต่างๆ ผู้นำกลุ่มจะต้องมีภาวะความเป็นผู้นำ และความน่าเชื่อถือ. เพื่อให้เกิดการยอมรับของสมาชิกในกลุ่ม
ข้อกำหนดของกลุ่มแบบเป็นทางการ
1.กำหนดหัวข้อ เพื่อให้กลุ่มดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
2.การแนะนำตัว เพื่อให้บุคคลในกลุ่ม รู้จักกันมากขึ้น และไว้วางใจซึ่งกันและกัน
3.เพื่อนร่วมทาง ซึ่งจะมี 2 ส่วน คือ
3.1 ครอบครัว คือ คนที่คอยดูแล ช่วยเหลือ ในค่าใช้จ่าย
3.2 ภายในสถานฟื้นฟูฯ คือ เจ้าหน้าที่ ที่คอยช่วยเหลือ ในทุกๆด้าน
- กลุ่มแบบไม่เป็นทางการ: Informal Group การพุดคุยให้คำปรึกษา โดยไม่ได้กำหนดหัวข้อในการเข้ากลุ่ม แต่มุ้งเน้นแนวทางการช่วยเหลือ การแก้ไขปัญหา การผลักดัน ให้เกิดการปรับเปลี่ยน ไปในทิศทางที่ดี ใช้พลังกลุ่มให้เกิดการผลักดัน (Peer Pressure Group) การแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ และปรับเปลี่ยน พฤติกรรม
กลุ่มทั้ง 2 รูปแบบ จะมุ้งเน้นไปที่ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเข้าใจซึ่งกันและกัน และผลักดันให้แก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่ถูกต้องร่วมกันในนิยาม “เราจะเจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน”
Self Help Discovery: การค้นพบตนเอง
หลังจากที่ผ่านกระบวนการ Self Help และ Self to Self Help แล้วทุกสิ่งที่ทำในกระบวนการฝึกฝนจนเกิดเป็นนิสัยประจำตัว และใช้กระบวนการทางความคิด (Thinking) สามารถบอกสอนตัวเองได้ สามารถกำหนดพฤติกรรมตัวเองได้ จนทำให้รู้จักตนเองมากขึ้น
- แนวทางการค้นพบตนเอง โดยการสอบสวนตัวเอง ทบทวนตัวเอง และการยอมรับในสิ่งที่บุคคลอื่นสะท้อนให้เห็น หรือเห็นบุคคลอื่น แล้วนำมาเปรียบเทียบกับตนเอง จนทำให้เกิดการรู้จักตนเอง และเข้าใจตนเองมากขึ้น
สิ่งที่ได้รับจากการค้นพบตนเอง
“รู้จักตัวเอง” การที่ได้รู้จักตัวเอง ว่าตนเองมีคุณค่ามีศักยภาพ และมีวุฒิภาวะมากน้อยแค่ไหน จนทำให้สามารถประเมินสิ่งต่างๆ และลงมือทำทุกอย่างให้อยู่บนความพอดี ความเป็นไปได้ โดยที่ไม่คาดหวังหรือลงมือทำสิ่งต่างๆ ที่เกินความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดความสุขในสิ่งที่ทำ และสิ่งที่ทำนั้นจะเกิดคุณค่าแก่ตนเอง
“รู้จักหน้าที่” ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน จะรู้ว่ามีอะไรที่ต้องทำ ทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร การรู้จักหน้าที่ จะทำให้สามารถกำหนดความรับผิดชอบของตนเองได้อย่างเหมาะสม และลงมือทำทุกอย่างที่เป็นหน้าที่ของตนเองโดยไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งหรือบังคับการทำหน้าที่ของตนเอง ก็จะมีความสุข และเกิดคุณค่าในสิ่งที่ทำ
“รู้ว่าตนเองเป็นใคร” การให้คำตอบกับตนเองได้ว่า ตัวเราเองเป็นใคร มีภาวะใดในสถานที่ต่างๆ จะทำให้เกิดการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ มีวุฒิภาวะ และสามารถวางตัววางบทบาท ของการดำเนินชีวิต ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมในสังคม ส่งผลให้การใช้ชีวิตในแต่ละวัน จะหาความสุขได้ในสังคมที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่
- ผลของการค้นพบตนเอง คือการมีความสุขที่แท้จริงในชีวิต เพราะจะทำให้สิ่งที่ทำมีคุณค่า รู้ว่าตนเองต้องทำอะไร รับผิดชอบอะไร ประเมินสิ่งที่ต้องทำได้ สุดท้ายส่งผลให้รู้เท่าทันตนเอง ทำให้เกิดการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ในครอบครัว ในสังคม รู้จักการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต และระมัดระวังในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้มี “อิสรเสรี” ในการดำเนินชีวิต